วันอาทิตย์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2552

พระกระต่ายแกลบ กรุวัดเขาพนมเพลิง เมืองศรีสัชนาลัย เมืองศรีสัชนาลัย และ พระเครื่องกรุเขาพนมเพลิง

พระกระต่ายแกลบ กรุวัดเขาพนมเพลิง เมืองศรีสัชนาลัย เมืองศรีสัชนาลัย และพระเครื่องกรุเขาพนมเพลิง
พระกระต่ายแกลบ กรุวัดเขาพนมเพลิง
สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน การเล่นหาสะสมพระเครื่องนั้น ถ้าเราได้ศึกษาประวัติความเป็นมาของพระเครื่องนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นพระเกจิอาจารย์หรือพระกรุพระเก่าต่างๆ เราก็จะได้รับความรู้เรื่องราวของพระนั้นๆ ในอดีตอีกด้วย ถ้าเป็นพระกรุก็จะได้รับรู้ประวัติศาสตร์ของกรุนั้นเมืองนั้นควบคู่ได้ด้วย เมื่อเรารู้ว่าพระนั้นๆ เป็นพระในสมัยใด ถ้าเราช่างสังเกตก็จะเห็นศิลปะในแต่ละยุคสมัย ว่ามีความแตกต่างกันออกไปในแต่ละยุคในแต่ละช่วงของประวัติศาสตร์ เราก็จะได้ความรู้ความเพลิดเพลินและสนุกไปกับการค้นคว้านั้นๆ ไปด้วย นับว่าได้ถึงสองต่อ คือได้องค์พระที่เราชอบและวิธีการดู ได้ความรู้ในเชิงศิลปะและประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นความรู้รอบตัวแถมไปด้วย วันนี้จะมาคุยถึงเมืองศรีสัชนาลัย และพระเครื่องกรุเขาพนมเพลิง (วัดเขาพนมเพลิง)กันครับเมืองเชลียง เมืองศรีสัชนาลัย และเมืองสวรรคโลก แต่เดิมเข้าใจกันว่าเป็นคนละเมืองกัน ซึ่งความเป็นจริงแล้วเป็นเมืองๆ เดียวกัน แต่มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามยุคสมัย เมืองศรีสัชนาลัยเป็นเมืองเก่าแก่ที่มีมาก่อนตั้งกรุงสุโขทัย แถบนี้เดิมเป็นชุมชนเก่าแก่เป็นเมืองขนาดย่อมชื่อว่าเมืองเชลียง ตั้งอยู่แถบวัดพระศรีรัตนมหาธาตุและวัดเจ้าจันทร์ ทางด้านทิศตะวันออกของเมืองศรีสัชนาลัยในปัจจุบัน เมืองเชลียงนี้เป็นเมืองเก่าแก่ที่สุดของลุ่มน้ำยม มีอายุใกล้เคียงกับเมืองหริภุญชัยของลำพูนในสมัยสุโขทัยช่วงต้นๆ นั้น ทั้งเมืองสุโขทัยเองและเมืองศรีสัชนาลัยก็เป็นศูนย์กลางการค้าขายและการ ศาสนาควบคู่กันไป ดังมีหลักฐานปรากฏในหลักศิลาจารึกกล่าวถึงเมืองทั้งสอง ตลอดระยะเวลาของกรุงสุโขทัย ศรีสัชนาลัยก็ได้รับการสถาปนาเป็นเมืองลูกหลวงอันสำคัญ กษัตริย์สุโขทัยจะให้ราชโอรสหรืออุปราชไปปกครองอยู่เสมอ เมื่อครั้งรัชสมัยของพระมหาธรรมราชาลิไท ถือได้ว่าเป็นยุคทองของแว่นแคว้นนี้ สิ่งก่อสร้างอันได้แก่ ศาสนสถาน เทวสถาน ทั้งที่อยู่ในเมืองและนอกเมือง ได้รับการพัฒนาก่อสร้างและบูรณะซ่อมแซมขึ้นในรัชกาลนี้เป็นจำนวนมาก ครั้นสิ้นสุดรัชสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท สุโขทัยก็อ่อนกำลังลงมาก บรรดาหัวเมืองต่างๆ ก็แยกตัวกันเป็นอิสระ จนกระทั่งในรัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพระงั่ว) สุโขทัยก็ตกอยู่ภายใต้อำนาจของกรุงศรีอยุธยาโบราณสถานที่สำคัญของเมืองศรีสัชนาลัยได้แก่ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ กรุพระที่พบพระร่วงหลังรางปืน วัดเขาพนมเพลิง วัดช้างล้อม วัดเจดีย์เจ็ดแถว วัดสวนแก้วอุทยานน้อย และเตาทุเรียงที่เป็นสถานที่ผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่ใหญ่ที่สุดของสุโขทัยวัดเขาพนมเพลิง เป็นกรุพระกรุใหญ่กรุหนึ่งที่ถูกคนร้ายลักลอบขุดเมื่อปี พ.ศ. 2507 ได้พระเครื่องไปเป็นจำนวนมาก พระกรุวัดเขาพนมเพลิงนี้มีทั้งพระเนื้อชินเงินและพระเนื้อดินเผา มีมากมายหลายสิบพิมพ์ พิมพ์ที่มีคนรู้จักกันมาก็คือพระศาสดาที่มีชื่อเสียงโด่งดังพอๆ กับพระพุทธชินราชใบเสมาและพระพุทธชินสีห์ ของพิษณุโลก พระศาสดาเป็นพระเนื้อชินเงินผิวปรอท นอกจากนี้ยังพบมีพระอู่ทองตะกวน พระลีลาบัวสองชั้น พระเปิดโลก พระลีลาซุ้มเรือนแก้วหรือพิมพ์ซุ้มหงอนไก่ พระพิจิตรข้างเม็ดซึ่งเป็นพระขนาดเล็ก พระกระต่ายแกลบหรือที่บางท่านมักเรียกว่าพระซุ้มเรือนแก้วฐานบัวขีด พระกระต่ายแกลบพิมพ์เล็ก พระนางแขนอ่อน พระร่วงนั่งหลังตัน ซึ่งสร้างล้อพระร่วงนั่งหลังลิ่ม พระกรุนี้ส่วนมากเป็นพระเนื้อชินเงินผิวปรอทขาวแทบทั้งสิ้น ส่วนพระเนื้อดินก็มีบ้างเช่นพระเม็ดน้อยหน่าก็ยังพบปะปนที่กรุนี้ด้วยในวันนี้ผมได้นำพระซุ้มเรือนแก้วฐานบัวขีด (กระต่ายแกลบ) พิมพ์ใหญ่ กรุวัดเขาพนมเพลิงมาให้ชมกันทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ขอขอบคุณ คุณภักดิ์ มรดกไทย ที่กรุณาเอื้อเฟื้อภาพมาให้ในครั้งนี้ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น