วันเสาร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2552

พระแม่ย่า

พระแม่ย่า

พระแม่ย่า เดิมนั้นประดิษฐานอยู่ที่ถ้ำพระแม่ย่า ซึ่งเป็นเพิงชะโงกเงื้อมออกมาทางใต้ ประมาณ 3 เมตรเศษ พระแม่ย่าหันพระพักตร์ไปทางทิศใต้ตามเงื้อมเขาที่ยื่นล้ำออกมาทางด้านหลังเงื้อมผามีถ้ำตื้น ๆ


องค์เทวรูป (พระแม่ย่า) เป็นเทวรูปหิน สลักด้วยหินชนวน เป็นรูปสตรีวัยสาว มีเครื่องประดับอย่างสตรีโบราณผู้สูงศักดิ์ ประทับยืนตรง แขนทั้งสองข้างแนบพระวรกาย นุ่งผ้าปล่อยชายไหว เป็นเชิงชั้นทั้งสองข้างแบบศิลปการนุ่งผ้าสตรีสมัยสุโขทัย ไม่สวมเสื้อหรือสไบเปลือยส่วนบนทั้งหมด เห็นพระถันทั้งสองเต้า ใส่กำไลแขน กำไลข้อมือและกำไลข้อเท้าทั้งสองข้าง เป็นกำไลวงกลม มีพระพักตร์เป็นรูปไข่ คางมน พระโอษฐ์แย้มยิ้มน้อย ๆ สวมมงกุฎเป็นแบบชฎาทรงสูง ที่พระบาทสวมรองพระบาทปลายงอน ยอดศิลาส่วนที่เหนือพระมงกุฎแตกบิ่นหายไปบ้าง เมื่อวัดขนาดของเทวรูปศิลารวมแท่นหินแผ่นเดียวกันที่คงอยู่ สูงทั้งหมด 51 นิ้ว วัดจากพระบาทถึงยอดพระมงกุฎ สูง 49 นิ้ว ศิลาจำหลักเป็นศิลาแท่งเดียวกันตลอดไม่มีรอยต่อ
ประวัติที่มาอันแน่นอนของพระแม่ย่านั้น ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่นอนว่าเป็นใคร เมื่อประชาชนพากันเรียกว่า “พระแม่ย่า” อาจารย์ทองเจือ สืบชมภู สันนิษฐานว่าคงเป็นนางกษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่ง และนางกษัตริย์องค์นี้น่าจะเป็นพระนางเสือง ซึ่งเป็นพระราชชนนีของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และเป็นพระเจ้าย่าของพระยาลิไท
ตามหลักฐานที่ปรากฏในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงได้กล่าวว่า “...เบื้องหัวนอนเมืองสุโขทัยนี้มีกุฎี พิหาร ปู่ครู มีสรีดภงส์ มีป่าพร้าว มีป่าลาง มีป่าขาม มีน้ำโคก มีพระขพุงผี เทพดาในเขาอนนนั้นเป็นใหญ่กว่าผีทุกผีในเมืองนี้ ขุนผู้ใดถือเมืองสุโขไทนี้แล้ ไหว้ดีพลีถูก เมืองนี้เที่ยง เมืองนี้ดี ผิไหว้บ่ดี พลีบ่ถูก ผีในเขาอนนบ่คุ้มเกรงเมืองนี้หาย...” จากข้อความดังกล่าว ได้มีการนำคำว่า “พระขพุงผี” มาตีความเกี่ยวพันกับพระแม่ย่า โดยที่นักประวัติศาสตร์และโบราณคดีได้สันนิษฐาน ในครั้งที่มีการสัมมนาถึงการเมืองและสภาพสังคมสุโขทัย เมื่อวันที่ 1-4 สิงหาคม 2520 ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พิษณุโลก ได้ลงความเห็นว่า พระขพุงผี หมายถึง พระที่โตหรือใหญ่ ซึ่งน่าจะเข้ากับศิลาจารึกว่า พระขพุงผีนี้เป็นใหญ่กว่าผีทั้งหลายได้...พ่อขุนรามคำแหงก็ทรงเคารพเลื่อมใสพระพุทธรูปองค์นี้มากอยู่ โดยทรงยกให้เป็นยอดของผีทั้งหลาย ถ้า แม่ย่านี้สร้างอุทิศเพื่อผีจริงแล้วก็จะต้องเป็นผีนางเสืองแน่ พระเจ้ารามคำแหงคงจะไม่เคารพผีอื่น เมื่อเป็นเช่นนี้พระปฏิมาพระองค์นี้จะต้องเป็นปูชนียวัตถุที่สำคัญของชาติและของชาวสุโขทัยชิ้นหนึ่ง
ศาลพระแม่ย่าเป็นปูชนียสถานที่สำคัญของสุโขทัย เป็นที่เคารพสักการะของประชาชน ทั้งในจังหวัดสุโขทัยประประชาชนโดยทั่วไป ใครมีเรื่องทุกข์ร้อนก็จะไปกราบไหว้ตั้งจิตอธิษฐานขอความช่วยเหลือจากพระแม่ย่า เล่ากันว่ามักจะได้ดังที่ขอ เกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ของพระแม่ย่านั้น อาจารย์ทองเจือ สืบชมภู ได้เขียนกลอนเพื่อสักการะบูชาพระแม่ย่าไว้ ดังนี้


พระแม่ย่ามิ่งเมือง
จุดเทียนธูปเก้าดอกบอกแม่ย่า กราบบาทรำลึกคุณอุ่นเกศี
บุญพระแม่ย่าจงอยู่คู่ธานี คุ้มครองลูกทุกชีวีตลอดมา
เดือดเนื้อร้อนใจก็ไปกราบ ร่ำพิลาบทุกข์ใจลูกไปหา
วอนแม่ช่วยอวยสุขทุกเวลา แผ่เมตตาช่วยลูกแก้ทุกข์ใจ
ผิดถูกอย่างไรให้แม่ช่วย แม่ก็อวยเอื้อจิตพิศมัย
ทำดีแม่ยิ่งช่วยอำนวยชัย อุปถัมภ์ค้ำให้ดังเจตนา
จะหาใครดังเช่นนี้ไม่มีแล้ว แม่ย่าคือดวงแก้วกระจ่างหล้า
สุโขทัยสุขสันต์ทุกวันมา เพราะมีพระแม่ย่าเป็นมิ่งเมือง


ปัจจุบันศาลพระแม่ย่าจัดสร้างขึ้นใหม่ เริ่มดำเนินการเมื่อ ปี พ.ศ. 2537 สมัยที่นายเกียรติพันธ์ น้อยมณี เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด โดยกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ มาทรงวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2537 และดำเนินการก่อสร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2541 มีการทำพิธีอันเชิญพระแม่ย่าเข้าประดิษฐาน ณ ศาลแห่งใหม่ เมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2541 และจังหวัดสุโขทัย ได้จัดให้งานพระแม่ย่าเป็นงานประจำปีของจังหวัดสุโขทัย โดยจะจัดในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี
สำหรับพระแม่ย่าตามความรู้สึกของชาวสุโขทัย เข้าใจว่าเป็นรูปนางเสือง พระราชมารดาพ่อขุนรามคำแหงมหาราช สมัยนั้นถือว่าพระมหากษัตริย์เป็นพ่อเมืองเหมือนพ่อคนทั้งเมือง ลูก ๆ จึงเรียกว่า “ย่า” เพราะฉะนั้นการเรียกชื่อ ถ้ำแม่ย่า และเขาแม่ย่า ชาวสุโขทัยจึงเรียกตามความเชื่อดังกล่าวข้างต้น รวมทั้งเรียกตามโบราณวัตถุ คือ พระพุทธรูปแม่ย่าประดิษฐานอยู่ครั้งแรกเป็นสำคัญ
ในปี พ.ศ. 2457 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย ก็ได้ทรงออกค้นหา “พระขพุงผีเทวดา” ที่บริเวณทิศเบื้องหัวนอนเมืองสุโขทัย ตามที่ศิลาจารึกบอกไว้ ทรงคาดหมายว่าน่าจะสร้างขึ้นไว้เป็นองค์เทวรูป ตั้งประดิษฐ์ไว้มากกว่าที่จะมีเพียงแต่ชื่อ และก็ทรงพบ องค์เทวรูปผู้หญิงสลักด้วยแท่งศิลาอยู่ในถ้ำที่ภูเขาแห่งหนึ่งห่างจากเมืองสุโขทัยเก่าไปทางทิศใต้ราว 7 กิโลเมตร จึงทรงพระวินิจฉัยว่า เทวรูปหินนี้ที่จะใช่ “พระขพุงผี” ผู้รักษาเมืองสุโขทัยไว้ตามที่ศิลาจารึกหลักที่ 1 จารึกบอกไว้ด้วยว่าเทวรูปอื่นในเทือกเขาหลวงนี้ไม่มีที่ไหนอีกแล้ว และเทวรูปนี้ชาวบ้านแถบนั้นต่าง พากันเคารพนับถืออย่างยิ่ง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระวิตกว่า ถ้าปล่อยให้องค์เทวรูปตั้งอยู่ในป่าอย่างนี้ต่อไป อาจสูญหายหรือถูกทำลายให้ชำรุดพังลงได้ ควรอัญเชิญไปเก็บรักษาไว้ที่ในตัวเมืองใหม่
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2460 พระยารามราชภักดี (ใหญ่ ศรลัมภ์) เจ้าเมืองสมัยนั้น จึงอัญเชิญมาไว้ ณ ศาลากลางจังหวัด องค์เทวรูป (พระแม่ย่า) เมื่อย้ายไปอยู่เมืองสุโขทัยใหม่ ๆ ยังไม่มีเทวาลัย เป็นที่ประดิษฐาน คงเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ศาลากลางจังหวัดสุโขทัย เคยย้ายไปประดิษฐานในศาลาสวรรคโลกระยะหนึ่ง (สมัยเมื่อเปลี่ยนจังหวัดสุโขทัยเป็นจังหวัดสวรรคโลก เมื่อปี พ.ศ. 2475) แต่ภายหลังก็อัญเชิญกลับจังหวัดสุโขทัยตามเดิมและต่อมาในระยะหลังจากนั้น เกิดประเพณีแห่แหนองค์เทวรูป (พระแม่ย่า) ในวันมหาสงกรานต์ ถือกันว่าทำให้ฝนตก ซึ่งปรากฏว่ามีฝนตกใหญ่ทุกครั้งที่นำเทวรูปองค์จริงออกแห่ให้ ประชาชนสรงน้ำเป็นที่น่าอัศจรรย์ จนนายเชื่อ ศิริสนธิ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัยสมัยนั้น เกรงว่าจะมีการแห่งพระแม่ย่าจนอาจจะตกหักเสียหายขึ้นได้ จึงได้สร้างเทวาลัยเป็นที่ประดิษฐานอยู่ริมฝั่งแม่น้ำยมฝั่งตะวันออก ตรงหน้าศาลากลางจังหวัดสุโขทัย เรียกว่า “ศาลพระแม่ย่า” องค์เทวรูป (พระแม่ย่า) ได้ประดิษฐานอยู่ในเทวาลัยแห่งนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2496 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น